กูรูเหล็กหนุนยกเลิกเตา IF ชี้เสี่ยงผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน

13 พฤษภาคม 2568
กูรูเหล็กหนุนยกเลิกเตา IF ชี้เสี่ยงผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน

นายวิกรม วัชระคุปต์ กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็ก ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รองผู้อำนวยการสถาบันโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นสนับสนุนแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกเลิกการใช้เตาอินดักชัน (Induction Furnace – IF) สำหรับการผลิตเหล็กในประเทศไทย

โดยระบุว่าเตา IF มีข้อจำกัดสำคัญในการควบคุมคุณภาพของเหล็กให้ได้มาตรฐานตลอดชิ้นงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุไม่คาดฝัน

สำหรับในอดีตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยกำหนดให้การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างสามารถใช้ได้เฉพาะกระบวนการถลุงเหล็กหรือเตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace – EAF) เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 มีการปรับมาตรฐานให้สามารถใช้เตา IF ได้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศจีนมีนโยบายปิดโรงงาน IF เพื่อควบคุมมลภาวะจากวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ทำให้โรงงานจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

“แม้เตา IF จะเหมาะสมกับการผลิตเหล็กชนิดพิเศษ เช่น เหล็กหล่อ หรือสแตนเลส ซึ่งต้องการการควบคุมทางเคมีอย่างแม่นยำ แต่เมื่อนำมาใช้กับการผลิตเหล็กก่อสร้างที่ใช้เศษเหล็กทั่วไปเป็นวัตถุดิบ เตา IF ไม่สามารถกำจัดสารเจือปนในระดับที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเตา EAF ซึ่งอาจส่งผลให้เหล็กที่ได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถรับแรงได้ตามที่ออกแบบไว้”

ล่าสุดในการประชุมสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ซึ่งมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น และเน้นย้ำว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยต้องมุ่งสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง แข็งแรง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณเหล็กที่ใช้

และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว ความมั่นใจในคุณภาพของเหล็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่ใช้เตา EAF มีศักยภาพในการควบคุมสารปนเปื้อนได้ดีกว่า โดยสามารถปรับคุณภาพของน้ำเหล็กให้เหมาะสมกับการผลิตเหล็กเส้นที่มีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย

“ผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยี EAF มีจำนวนและกำลังการผลิตเกินพอรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทย อีกทั้งการผลิตเหล็กยังครอบคลุมหลากหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะเหล็กเส้น ดังนั้น การยกเลิกเตา IF จะไม่ส่งผลให้สินค้าเหล็กขาดแคลนสินค้าเหล็กอย่างใด”


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.